รักษ์สุขภาพ - ตอนที่ 25 อาหารการกิน (3)

งานวิจัยพบว่า พฤกษาเคมี (Phytonutrient) ที่สกัด (Extract) มาอยู่ในรูปยาเม็ด (Tablet) หรือแคปซูล (Capsule) ไร้ประโยชน์ และพึงระวังภาษาที่ใช้ในฉลาก ว่าอาจมีเจตนาหลอกลวง โดยอวดอ้างสรรพคุณ (Property) ที่เกินกว่าความเป็นจริง

แล้วโภชนาการที่ดีเป็นอย่างไร 

ตามคำแนะนำของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture: USDA) และแนวทางของรัฐบาลแคนาดา (Canada Food Guide) โภชนาการที่ดีคือรูปแบบของการกิน (Food pattern) ควรเป็นการกินพืชผัก, ผลไม้, ถั่ว (ทั้งเปลือกอ่อนและเปลือกแข็ง) และธัญพืชไม่ขัดสี (Whole grain) โดยกินเนื้อสัตว์ (Meat) ให้น้อยลง ตัวอย่างเช่น

  • อาหารมังสวิรัติ (Vegetarian)
  • อาหารเมดิเตอร์เรนียน (Mediterranean)
  • อาหารลดความดัน (Dietary Approaches to Stop Hypertension: DASH) โดยลดความเค็ม, ลดไขมันอิ่มตัว (เช่น ไขมันนม และเนื้อสัตว์ติดมัน) แต่เพิ่มผัก-ผลไม้และธัญพืชไม่ขัดสี

ในแง่เครื่องดื่ม ควรดื่มน้ำเปล่าเป็นประจำ แทนเครื่องดื่มใส่น้ำตาลทุกประเภท รวมถึงนม และน้ำผลไม้ (Juice) ที่ทิ้งกาก (Fiber) สิ่งที่ไม่ดีทางโภชนาการได้แก่ ไขมันอิ่มตัว (Saturated), น้ำตาล, เกลือ (Sodium) , และไขมันทรานส์ (Trans fat) [ซึ่งเป็นไขมันชนิดที่เกิดจากการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงในน้ำมันพืช (Partial hydrogenation) เพื่อเปลี่ยนสภาพจากของเหลวให้เป็นของแข็งหรือกึ่งแข็ง เพื่อให้มีอายุการเก็บรักษานานขึ้นและไม่เหม็นหืน (Rancid)]

อาหารรูปแบบพืชเป็นหลักและไขมันต่ำ

เป็นอาหารที่มีแต่พืช (Plant-based) ไม่มีเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ (Products) จากสัตว์เลย ไม่มีแม้กระทั่งนมหรือไข่ เน้นส่วนที่มีไขมันต่ำ (Low fat) และไม่ใช้น้ำมันปรุงอาหารหรือราดบนอาหาร ในงานวิจัยที่เข้มงวด (Strict research) จะรวมถึงการควบคุม (Control) ปริมาณของพืชในไขมันสูง เช่น อะโวคาโด (Avocado) และการลดน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นไขมันแบบอิ่มตัว หรือไม่อิ่มตัว โดยลดลงไปจนเหลือไม่เกิน 10% ของแคลอรีทั้งหมด

อาหารแบบธรรมชาติ (Whole food) หมายถึง รูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ โดยไม่ผ่านกระบวนการสกัด (Extraction), ขัดสี (Polishing), หรือ ปรุงแต่ง (Processing) เพื่อเก็บถนอม (Preserve) อาหาร

  • การไม่สกัด (Non-extraction) หมายถึงการไม่แยกกากหรือเนื้อส่วนหยาบ (Crude) ของอาหารไปทิ้ง จนเหลือแต่ส่วนที่เป็นน้ำมัน หรือน้ำตาล ซึ่งเป็นส่วนที่มีแต่แคลรี ไม่มีสารอาหาร (Nutrient) ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น กากใย, วิตามิน, เกลือแร่ (Mineral), และโปรตีน (Protein) ดังนั้น อาหารแบบธรรมชาติ จึงไม่ใช้อาหารสกัดอย่างน้ำตาล หรือน้ำมันทำอาหาร (Cooking oil)

แหล่งข้อมูล 

  1. สันต์ ใจยอดศิลป์, นพ. (2560). สุขภาพดีด้วยตัวคุณเอง: Good Health by Yourself (eBook). พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: บริษัท พิมพ์สวย จำกัด.
  2. สันต์ ใจยอดศิลป์, นพ. และ พญ. ดร. พิจิกา วัชราภิชาต (2566). Healthy Life Bible คัมภีร์สุขภาพดี: สุขภาพดีได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: บริษัท ฟรีมาย์ พับลิชชิ่ง จำกัด.